Monday, 6 May 2024
Hard News Team

‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์’ ถาม ‘ธนาธร’ ฮั้วเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตย ? ด้าน ‘สว.สมชาย’ ตั้งข้อสังเกต อาจผิดเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ

(6 พ.ค.67) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค’ เรื่อง ฮั้วกระบวนการเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตย จริงหรือ? ระบุว่า แกนนำคณะก้าวหน้าวิจารณ์ว่า ระบบเลือก สว. นี้ออกแบบมาเพื่อ ‘กีดกันประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วม’ ซึ่งต่อมาธนาธรได้กล่าวว่าการทำให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ ต้องเริ่มต้นที่การเลือก สว. หากมี สว. ประชาชนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเข้าไปดำรงตำแหน่งมากพอ ก็จะช่วยถอดสลักและแก้ปมที่พันกันได้

สำหรับคำจำกัดความของ ‘สว. ประชาชน’ ของคณะก้าวหน้าคือ คนธรรมดาที่ ‘ฝักใฝ่ประชาธิปไตย’ และลงสมัคร สว. โดยไม่รับเงินทองและอามิสสินจ้าง คนที่ลงสมัคร สว. มี 3 ประเภทคือ 

1.คนที่สมัครเพราะต้องการเป็น สว. จริง ๆ 

2.คนที่สมัครแบบเป็นก็ได้-ไม่เป็นก็ได้ 

3.คนที่สมัครเพราะต้องการเข้าไปโหวต 

ซึ่งคน 2 กลุ่มหลังอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปแสดงตัวในเว็บไซต์ หมายความว่า ธนาธร รณรงค์ให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดของเขาสมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์ ใช่หรือไม่

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดแคมเปญ “สว. ประชาชน” รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ไปลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

สำหรับ สว. ชุดใหม่จะมาจากการ ‘เลือกกันเอง’ ในกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และ ‘เลือกไขว้กลุ่ม’ โดยผู้สมัครต้องผ่านการเลือก 3 ระดับ จากอำเภอ ขึ้นสู่จังหวัด และประเทศ  โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘คุยนอกจอ’ กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่า ต้องการยอดผู้สมัครอย่างน้อย 1 แสนคนเป็นตัวเลขเป้าหมาย หากทำได้ก็จะได้เสียงส่วนใหญ่ของ สว.

ซึ่งนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคณะบุคคล/ตัวแทนพรรคการเมือง ที่มีกระบวนการรณรงค์ให้ประชาชนสมัคร สว. โดยระบุว่า “เข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ สว.” เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 ต้องสมัครเพื่อเป็น สว. ไม่ใช่สมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์

สรุป ธนาธร คนที่ประกาศว่า “ถ้าประเทศไทยยังเดินไม่ถูกทาง ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังหาผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมกว่าผมไม่ได้ ถ้าต้องทำ (เป็นแคนดิเดตนายกฯ) ก็ต้องทำ” อันหมายความว่า ธนาธรเท่านั้นที่จะมาเป็นผู้นำเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง หรือไม่

แต่การรณรงค์ให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดของตน ลงสมัคร สว.โดยไม่ต้องหวังจะสมัครเพื่อเป็น สว. แต่สมัครไปเพื่อจะได้มีสิทธิ์โหวตคนที่ตนเองหรือพรรคพวกของตนเองให้ได้เป็น สว.  ซึ่งนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่า จะถือว่าเป็นการเข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ สว.ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

คนที่มีแนวคิดแบบนี้นะหรือที่ประกาศว่าจะมาสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย และประกาศว่าประเทศไทยต้องมีผู้นำที่ชื่อ ธนาธร เท่านั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตย

‘อ.สมชัย’ ชี้ ‘แบงค์ชาติ’ วิจารณ์ได้ แต่คนพูดก็ต้องถูกวิจารณ์ ย้ำ!! ต้อง ‘มีพื้นฐานความรู้-ปราศจากอคติ-มีตรรกะของเหตุผล’ 

(6 พ.ค.67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ เกี่ยวกับการวิจารณ์การทำงานของ ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ โดยได้ระบุว่า ...

แบงค์ชาติ วิจารณ์ได้

แบงค์ชาติ เป็นสถาบันที่มีหน้าที่กำกับนโยบายด้านการเงินของประเทศ ดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปริมาณเงินในตลาด และอัตราแลกเปลี่ยน ทำงานดีก็ต้องชม ทำงานไม่เข้าท่าก็วิจารณ์ได้

แต่การวิจารณ์ แบงค์ชาติ ต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ปราศจากอคติ และมีตรรกะของเหตุผล เช่น จะบอกว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเยอะ เพราะการไม่ลดดอกเบี้ยธนาคาร ดูจะเป็นการเชื่อมโยงของสิ่งห่างไกลเกินไป

หนี้สาธารณะ (Public Debt) นั้น มาจากกู้ยืมเงินของรัฐจากการทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 11.4 ล้านล้านบาท จะลดลงต่อเมื่อเราตั้งงบประมาณใช้คืนมากขึ้น กู้ใหม่ให้น้อยลง หรือกู้มาลงทุนเพื่อให้มีรายได้มาใช้คืนไม่ใช่กู้มาแจก

หนี้ครัวเรือน (Household debt) ของไทย คือ หนี้ของชาวบ้านที่ไปกู้ยืมสถาบันทางการเงิน เช่น ผ่อนบ้าน ซื้อรถ กู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท หากมีอัตราดอกเบี้ยสูง ย่อมผ่อนคืนยาก ส่งต้นได้น้อย ส่งเท่าไรก็ส่งได้แต่ดอก 

เพราะดอกเบี้ยเงินกู้แบงค์ ประมาณร้อยละ 7 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ ร้อยละ 2.5 

แบงค์ชาติ วิจารณ์ได้ครับ แต่คนวิจารณ์แบงค์ชาติด้วยตรรกะที่ตื้นเขิน ก็ย่อมถูกวิจารณ์ได้เช่นกัน

"ทริปยุโรปครั้งแรกในรอบ 5 ปี 'สี จิ้นผิง' เลือกไปเยือน 'ฮังการี' จอมหัวแข็งใน NATO + 'เซอร์เบีย' สุดซี้จีนพร้อมชนในย่านนั้นด้วย"

(6 พ.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ทริปยุโรปครั้งแรกในรอบ 5 ปี 🇨🇳 #สีจิ้นผิง เลือกไปเยือน 🇭🇺 #ฮังการี จอมหัวแข็งใน NATO + 🇷🇸 #เซอร์เบีย สุดซี้จีนพร้อมชนในย่านนั้นด้วยค่า

ไปเยือนยุโรปครั้งแรกในรอบ 5 ปี  แม้จะแวะปารีส 🇫🇷เป็นจุดแรก ผู้นำจีนไม่ได้ไปช้อปปิ้งหรือไปโชว์แฟชั่นอะไรนะคะ 🤭 หากแต่ทริปนี้  เพื่อ Strategic Opportunities !! 

นอกจากฝรั่งเศส #สีจิ้นผิง เลือกที่จะไปคุย/เตรียมการอะไรกับผู้นำ #ฮังการี และผู้นำ #เซอร์เบีย  ตัวพ่อจอมหัวแข็งพร้อมชนทั้งสองชาติในยุโรปเลยค่า 😅 #ปีมังกรดุ 

คงเดาได้นะคะ งานนี้ใครจะหนาววววว 🤭 

https://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/what-to-look-for-as-xi-jinping-visits-france-serbia-and-hungary/

คงจำได้นะคะ #ฮังการี เคยหัวแข็งยืนกรานไม่ยอมให้ #สวีเดน เข้า NATO  ในที่สุด  กว่าจะเคลียร์จบ สวีเดนลุ้นด้วยใจระทึกกว่าจะเข้าเป็นสมาชิก #NATO ได้ค่าาา

จอมซ่าส์พร้อมชนแบบฮังการี 🤭 จีนชอบจ้า 
https://www.reuters.com/world/europe/hungary-set-ratify-swedens-nato-accession-clearing-last-hurdle-2024-02-26/

‘ดร.เสรี’ ชี้ ‘ไทย’ สิ้นสุดความร้อนแรงแล้ว  เตรียมรับฝน ตั้งแต่วันนี้!! อุณหภูมิลดลงทุกพื้นที่

(6 พ.ค.67) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ออกมาไขคำตอบ ผ่านโพสต์บนเพจ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เรื่อง ‘Climate promise 2025 สัญญาสภาพภูมิอากาศ 2568’ อาจจะทำให้คนไทยเจ็บตัวบ้างไม่มากก็น้อย ทางออกของโลก และหนึ่งเดียวของไทยคืออะไร ?

ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 67 เราจะสิ้นสุดความร้อนแรงทั่วประเทศแล้ว โดยสัปดาห์นี้ พื้นที่ที่มีโอกาส 50-80% ยังคงมีอุณหภูมิสูง > 40°C จะเป็นพื้นที่ในภาคกลาง ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐมชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นครสววรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร และสุโขทัย ส่วนพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี จ. นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และสระแก้ว แต่ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม อุณหภูมิจะลดลงตามลำดับ (ยังคงร้อนอยู่นะครับ) ในบางพื้นที่เริ่มมีฝนตกประมาณ 10-20 mm ต่อวันให้ได้รับความชุ่มชื้นบ้างโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พอผ่อนคลายความร้อนได้มากน่ะครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปพูด แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลายเวทีเช่น สถานทูตเนเธอร์แลนด์ (Amphibious transformation by design) การไฟฟ้านครหลวง (โลกเดือด) สำนักข่าวกรอง (การจัดการภัยพิบัติจาก Climate change) เพื่อชี้ให้ทุกหน่วยได้ตระหนักว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤติสภาพอากาศรุนแรงทั่วโลก คนไทยทั่วทุกภูมิภาคเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกเหนือจากผลกระทบต่อสุขภาพ ผลผลิตภาคเกษตรเสียหายรุนแรง โดย GDP ภาคการเกษตรสาขาพืช -6.4% (ทุเรียนสุกเร็วไม่หวานเสียหาย 30-40% มะพร้าวไม่ติดลูกเสียหาย 90% องุ่นให้ผล และน้ำน้อยเสียหาย 70% เป็นต้น) โลกจะไปอย่างไรต่อ ? คนไทยจะอยู่กันอย่างไร ? ภาคธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร ? ภาครัฐจะมียุทธศาสตร์อะไร ?

ล่าสุด UNDP ได้ออกแคมเปญ ‘Climate promise 2025 สัญญาสภาพภูมิอากาศ 2568’ Dr. Cassie Flynn ผู้อำนวยการด้าน Climate change, UNDP ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมาว่า โลกยังมีความหวัง โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง (Ambition, Acceleration และ Inclusivity) ผมฟังดูแล้วรู้สึกเหนื่อย และเป็นกังวลในฐานะคณะทำงาน IPCC ว่าเราจะเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ? ในขณะที่ประเทศร่ำรวย 10 % มีส่วนสำคัญในการปล่อย GHG 60 % แต่ประเทศกำลังพัฒนากว่า 60% มีสัดส่วนการปลดปล่อยไม่ถึง 10%

ภายใต้แรงกดดันของสังคมโลก สงครามการค้า (Below 1.5°C by 2025) ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนไทยต้องเจ็บตัวกันไม่มากก็น้อยน่ะครับ กลุ่มเปราะบางจะเปราะบางมากขึ้น ค่าครองชีพจะเพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น จากราคาอาหาร และวัตถุดิบต่างๆ ในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ สร้างความได้เปรียบบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ เปลี่ยนวิกฤติทั่วโลกให้เป็นโอกาส “ครัวของโลก” เปลี่ยนผ่านประเทศด้วยนวัตกรรมการปรับตัวภาคเกษตรกรรม 

‘อ.เดชา’ โพสต์เฟซกรณี ‘เดี่ยวสเปเชียล’ ชี้ ‘บูลลี่’ ผู้อื่น มอง!! ‘โน้ส’ ‘ไม่แก่แต่ก็ดัดยาก’ ไปไกลเกินกว่าจะเตือน

(6 พ.ค.67) อ.เดชา ศิริภัทร (หมอเดชา) เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Deycha Siripatra เกี่ยวกับกรณี เดี่ยวสเปเชียล ของ โน้ส อุดม แต้พานิช โดยได้ระบุว่า

ได้อ่านข่าวเรื่อง ‘เดี่ยวสเปเชียล โน้ส อุดม’ ใน Netflix ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘ความพอเพียง’
โดยโยงกับพฤติกรรมของดาราและอินฟลูเอนท์เซอร์บางคน ที่ลงมือทำ ‘เกษตรพอเพียง’
รวมทั้งท่าทีของคุณ โน้ส เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยคำพูดว่า "กูเป็นคนไม่รู้จักพอ" ก็รู้สึกปลง
คือต้องทำใจแล้วว่า คุณ โน้ส ไปไกล เกินกว่าจะเตือนสติด้วยเหตุผล หรือข้อเท็จจริงใดๆ
เข้ากับภาษิตที่ว่า "ไม้แก่ ดัดยาก" เพราะคุณโน้สนั้น แม้อายุยังไม่มาก แต่ก็ ดัดยากแล้ว

การแสดงเดี่ยว หรือทอล์คโชว์ของคุณโน้ส นั้น มีผู้ติดตาม เพราะมีความตลก 
เป็นการตลก ที่มีการใช้คำพูดเป็นหลัก มีผู้วิเคราะห์ว่า เป็นคำพูดประเภท Bully ผู้อื่น
คล้ายๆกับรรดา ตลกคาเฟ่ ที่ใช้วิธีการตลก ด้วยการทำร้ายผู้อื่น (เช่นใช้ถาดฟาดหัว)
ตัวอย่างการ ตลกแบบ Bully (ด้อยค่า) ผู้อื่นของคุณ โน้ส คือ ‘เอา รปภ.มาขับเครื่องบิน’
ซึ่งก็คือ การ Bully (ด้อยค่า) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นั่นเอง

มาคราวนี้ คุณ โน้ส Bully (ด้อยค่า) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และผู้ดำเนินตามปรัชญาฯ
และประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า "กูเป็นคนไม่รู้จักพอ" (แสดงความต่อต้านอย่างหยาบคาย)
คงพูดอย่างไม่อ้อมค้อมว่า คุณ โน้ส ไม่เข้าใจ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ เลยแม้แต่น้อย
เช่นเข้าใจว่า พอเพียง คือรู้จักการบริหารทรัพยากร ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เป็นต้น

ในขณะที่ ความหมายตามพระราชดำรัส ร.9 คือ "... ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะตัวเอง"
ยังไม่ต้องกล่าวถึง ต้นกำเนิดของ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’" ว่ามาจาก ‘มรรค’
จึงเป็นทางสายกลาง ที่มุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ โดยเน้นที่ข้อสัมมาอาชีวะ ที่พอดี
หรืออีกชื่อคือ เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ที่มิใช่มุ่งความร่ำรวย หรือไม่รู้จักพอ (โลภ)

จึงไม่แปลก ที่คนจำพวก ไม่รู้จักพอ อย่างคุณ โน้ส จะไม่เข้าใจ เศรษฐกิจพอเพียง
ไม่แปลกที่คุณ โน้ส จะเข้าใจและเชื่อ เศรษฐกิจแบบ ‘ชิตังเม โป้ง รวย’ ของวัดธรรมกาย
และเชื่อว่า เมื่อรวยแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติธรรม ก็ใช้เงินซื้อตั๋วไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ง่ายๆ
ผมจึงรู้สึกปลง และทำใจกับพฤติกรรมของคุณ โน้ส ได้ ตั้งนานแล้ว

‘อ.สุวินัย’ โพสต์เฟซฟาด ‘โน้ส อุดม’ ที่พูดสนุกปาก ‘เรื่องความพอเพียง’ ย้ำ!! ขอเดินตาม ‘วิถีแห่งชีวิตศักดิ์สิทธิ์’ ที่พ่อหลวง ร.9 ได้ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง 

(6 พ.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีที่ โน้ส อุดม แต้พานิช ได้ขึ้นเดี่ยวไมโครโฟน พูดถึงเรื่องของความพอเพียง อย่างผิดความหมายที่แท้จริง โดยได้ระบุว่า ...

หนทางพิสูจน์ม้า เวลาพิสูจน์อุดม

ทุกครั้งที่มึงหรือกูพิมพ์อะไร พูดอะไรในโซเชียล นั่นหมายถึงทั้งมึงและกูพร้อมแล้วที่จะให้คนอื่นเห็นสติปัญญาของมึงและของกู ได้เห็นธาตุแท้สันดานที่แท้จริงของตัวมึงและตัวกู

กูไม่ขอเป็น ‘คนรุ่นเก่า’ ที่หิวแสงและมุ่งเกาะกระแสคนรุ่นใหม่เพื่อเอาใจ...อย่างมึง

กูไม่ขอเป็น 'ทาสของความโลภ' ที่เที่ยวป่าวประกาศว่าตัวเองเป็น "คนไม่รู้จักพอ" แถมยังมาแซะหลักการเศรษฐกิจพอเพียง...อย่างมึง.

กูขอแสวงหา "ความรุ่มรวยทางจิตวิญญาณ" แทนที่จะแสวงหาความมั่งคั่งทางวัตถุ ผ่านการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียงโดยเต็มใจ

โดยไม่ตกเป็นทาสเงิน รวมทั้งทาสของโลกธรรม 8 ทั้งปวง...อย่างมึง 

กูกับมึงต่างกันตรงนี้ ทั้งในความเป็นมนุษย์และความเป็นลูกผู้ชาย ...

กูขีดเส้นแบ่งกับมึงตรงนี้ชัดเจนว่ากูกับมึงเป็นมนุษย์คนละสายพันธุ์กัน
เพราะกูไม่เคยเอาเรื่องของผู้หญิงที่เคยคบหาออกมาแฉบนเวทีการแสดงเพื่อให้เป็นเรื่องตลก หรือเป็นเหยื่อของเสียงหัวเราะอย่างที่มึงทำอย่างหน้าตาเฉย

คนที่ชื่นชอบมึง เชียร์มึง เป็นแฟนคลับของมึง ก็คงมีสันดานไม่ต่างกันเท่าไรหรอก 

‘เงิน’ สำหรับกู ต้องเป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตของกูเท่านั้น

‘เวลา’ สำหรับกู ต้องมีไว้สำหรับทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ในฐานะที่เป็น ‘ผู้ให้’ กับเพื่อฝึกฝนตนเองในสรรพวิชาต่างๆ เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่แท้ให้ถึงขีดสุดแห่งศักยภาพเท่านั้น

‘ความตาย’ สำหรับกู มันก็แค่การได้หยุดพักชั่วคราวจากการอาสาลงมาเกิด เพื่อสืบสานปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ชาติแล้วชาติเล่าเท่านั้น

นี่คือ ‘วิถีแห่งชีวิตศักดิ์สิทธิ์’ ที่พ่อหลวง ร. 9 ของกูได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตของท่านทำให้ดูเป็น ‘แบบอย่าง’ ให้ได้รู้ ได้เห็น ได้เจริญรอยตาม ‘วิถีชีวิตศักดิ์สิทธิ์’ แบบนี้แหละจึงจะสามารถตอบโจทย์วิกฤตสังคมของประเทศนี้ที่กำลังหลงทางและถูกจูงจมูกให้เดินลงเหวโดยพวกนักการเมืองได้จริง

เนื่องเพราะ ‘ชีวิตศักดิ์สิทธิ์’ เช่นนี้พึ่งพาเงินตรา อำนาจ ตำแหน่งหัวโขนใดๆ น้อยเหลือเกิน 

มันแทบไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำ เพราะ ‘ชีวิตศักดิ์สิทธิ์’ เป็นเรื่องของการยินยอมเลือกใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่ายและพอเพียงโดยเต็มใจ

เพื่อมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรง อย่างรุ่มรวยทางจิตวิญญาณและทางปัญญาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตตนเท่านั้น

คำต่อคำ 'ส.ศิวรักษ์-ศ.ดร.ไชยันต์' ถกประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 2475 การพูดคุยอย่างมีอารยะ ภายใต้ 'ข้อเท็จจริง-เหตุผลทางวิชาการ'

(6 พ.ค.67) หลังจากที่ภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ (2475 Dawn of Revolution) ได้เปิดให้รับชมมาพักใหญ่ ก็ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น จนเกิดกระแสทั้งชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยหนึ่งในผู้วิจารณ์ คือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ทำการวิจารณ์ แอนิเมชัน 2475 อย่างรุนแรงโดยไม่มีเชิงอรรถอ้างอิง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นส่วนตัวของอาจารย์สุลักษณ์เอง 

จนกระทั่ง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสไปร่วมพูดคุยและสอบถามกับ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ โดยมีเอกสารหลักฐานอ้างอิงจำนวนมากไปยืนยันในข้อสนทนาครั้งนี้

ล่าสุดยูทูบช่อง ‘Dhanadis - ธนดิศ’ ได้มีการเผยแพร่คลิปการสนทนาระหว่าง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ในหัวข้อ 'วิวาทะประชาธิปไตย : รัชกาลที่ 7 กับ ปรีดี' เพื่อถกเถียง-แลกเปลี่ยนมุมมองที่สอดคล้องกับเรื่องราวในหนังผ่านคลิปความยาวกว่า 40 นาที ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้....

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: สวัสดีครับท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วันนี้ผมรู้สึกยินดีมากที่อาจารย์อนุญาตให้ผมและทีมงานเข้ามาบันทึกภาพและก็พูดคุยสนทนากับท่านอาจารย์ ในวันนี้ที่มาคุยกับอาจารย์นอกจากจะมากราบสวัสดีปีใหม่ไทย มีคําถามนะครับ สืบเนื่องมาจากที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์กับทีมงานธนดิศ เกี่ยวกับเรื่อง แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ แล้วก็เห็นอาจารย์ได้มีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่พระปกเกล้าฯ กําลังจะพระราชทานนั้น อาจารย์บอกว่ามีแต่เขียนไว้ให้มีนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

แล้วตอนหลังผมก็โต้แย้งไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายเรมอนด์ สตีเวน ร่างร่วมกับพระยาศรีวิสารวาจา มันมีรายละเอียดมากกว่าแค่นายกรัฐมนตรี มันมีทั้งการพูดถึงสภา คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รายละเอียดก็มีเยอะ ทีนี้ผมก็เลยไม่ทราบว่า ที่อาจารย์บอกว่า เอ๊ะ!! มีแต่เฉพาะนายกรัฐมนตรีเนี่ย มันคืออะไร

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: อันนี้คือผมพูดโดยสรุปนะครับ เพราะแน่นอนว่ารัฐธรรมนูญคงจะมีรายละเอียดมากกว่านั้น แต่โดยเนื้อหาสาระ อํานาจนั้นไปอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ อํานาจไม่ได้อยู่ที่ราษฎรเลย แม้กระทั่งการตั้งสภาองคมนตรีที่กําหนดเลือกให้มี 3 ปัญญาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ปรากฏว่ามีแต่ขุนนางแทบทั้งนั้นเลย ... 3 ปัญญาชนมีสองคน เป็นพ่อค้าแต่ก็เป็นพระยาทั้งคู่ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด-นายเลิศ) แกเป็นพระยาเหมือนกัน และแม้กระนั้นท่านสิทธิพร ก็เป็นกรรมการองคมนตรีสภาองคมนตรี

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อาจารย์บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญ อํานาจไม่ได้เป็นของประชาชนเลย แต่ว่าร่างฉบับนั้น มันมีให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการเลือกตั้ง สส. ประเภทหนึ่ง คือ ในร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารเขาจะบอกสภามี 2 แบบ แบบที่ 1 คือแบบแต่งตั้ง และ 2 แบบเลือกตั้ง โดยแบบเลือกตั้งนั้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้กําหนดให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้ง อันนี้ก็ถือว่ายังให้อํานาจแก่ประชาชนนะครับ 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ก็ใช่นะครับที่จริงเนี่ย ท่านต้องการจะให้เลือก สภาเทศบาลก่อน แล้วตอนนั้นก็รู้สึกจะดูฮ่องกงเป็นตัวอย่าง ก็ดูในหลวงจะดูที่เมืองขึ้น ดูที่อินเดีย, พม่า, ฮ่องกง ไม่อยากให้แพ้พวกเมืองขึ้น อยากจะออกมา ก็พูดกันอย่างไม่เกรงใจก็ไม่มีอะไรก้าวหน้ามากนัก แต่ท่านก็ตั้งใจนะครับอยากจะให้มันอย่างน้อยมีทีท่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้กระทั่งพวกเจ้านายผู้ใหญ่โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ท่านคัดค้านมากเลย

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อ่อ!! ก็แปลว่าร่างรัฐธรรมนูญก็มีเชื้อประชาธิปไตยอยู่บ้าง คือ ให้เลือกตั้ง ทีนี้ประเด็นที่บอกว่าสภาองคมนตรีที่อาจารย์บอกว่าไม่สามารถถวายคําแนะนําได้ แต่ที่ผมไปดูในเอกสารที่ นายเบนจามิน เอ.บัทสัน เขาไปค้นมา มันก็เป็นอย่างที่อาจารย์ว่านะครับ มันมีข้อถกเถียงว่าตกลงแล้วจะให้สภาองคมนตรีอยู่ในสถานะของ Consultative หรือ Advisory นะครับ คือถ้าเป็นแบบหนึ่งก็จะไม่มีไม่มีสิทธิ์ที่จะถวายคําแนะนําเลยแล้วแต่ว่าท่านจะขอเมื่อไหร่ แต่นี่หลังจากประชุมหารือถกเถียงกันแล้วปรากฏว่า เสียงข้างมากบอกว่า ให้สภาคมนตรี สามารถถวายคําแนะนําได้โดยที่กษัตริย์ไม่ต้องริเริ่มถาม แต่ว่าจะต้องได้เสียงของสมาชิกสภาองคมนตรี คือ ต้องโหวตกันก่อนเพราะฉะนั้นตรงนี้แปลว่าสภามนตรีมีสิทธิ์ถวายคําแนะนําหรือแม้กษัตริย์ไม่ได้ขอ ก็แปลว่าอันนี้คือ มีสิทธิ์ แต่ว่าเราต้องลงเสียง

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: มีแนวโน้มนะ รัชกาลที่ 7 ท่านก็มีแนวโน้ม ที่จะทําประชาธิปไตย ไม่ใช่น้อย

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ประเด็นอีกประเด็นนึงที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์ กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ในฐานะรับรองรัฐประหาร อันนี้อาจารย์บอกว่าหลัง 2475 รังเกียจเจ้ามาก แล้วก็มีเจ้าจํานวนหนึ่งหนีไป แต่ทีนี้ในบันทึกของนายพันโททหารฝรั่งเศสที่อยู่ในเหตุการณ์สมัยนั้น เขาบันทึกส่งไปที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสว่ากรมพระนครสวรรค์ถูกเชิญให้ออกไป คือไม่ได้หนี แต่ถูกเชิญให้ออก

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เพราะว่าเมื่อตกลงกับพระปกเกล้าฯ ว่าเสด็จกลับมาแล้ว ทางคณะผู้ก่อการก็ยินดีปล่อยเจ้านายที่ขังเอาไว้ โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ว่าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์เขาไม่ยอมปล่อย เพราะว่าท่านมีอํานาจมาก ท่านเคยเป็นแม่ทัพบกแม่ทัพเรือว่าการมหาดไทย ทุกคนกลัวท่านกันหมด ทํายังไงถึงจะให้ท่านไปได้ รัชกาลที่ 7 ท่านก็บอกอยากจะไปอยู่ต่างประเทศ ตกลงเท่าที่ผมทราบมา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ติดต่อหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์ โดยหม่อมเจ้าถาวรนี้ก็เป็นน้องเมียสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ และก็เป็นเพื่อนกับพระยามโนฯ ก็เลยกระซิบบอกพระยามโนฯ โดยหม่อมเจ้าถาวรบอกว่า ไอ้พวกก่อการเนี่ยมันหิว ต้องให้อะไรมันมั่ง ไม่ให้มันไม่ไปหรอก อันนี้ที่ผมได้ยินมานะครับ ท่านก็รับสั่งว่า ท่านรับใช้บ้านเมืองมาขนาดนี้แล้ว ยังจะเอาอะไรจากท่านอีกในเมื่อจะให้ไปอยู่ต่างประเทศ ท่านก็เอาเงินไปใช้งั้นก็เอาบ้านไปก็แล้วกัน

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: จะเป็นไปได้ไหมครับว่าคณะราษฎร ก็เกรงกลัวอํานาจอิทธิพลของกรมพระนครสวรรค์ ก็เลยคล้ายๆ อยากเนรเทศให้ออกไป ท่านไม่ได้หนีออกไป

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เชิญเสด็จไป

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อาจารย์ครับอันนี้มีผู้ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยฝากคําถามผมมา อยากให้กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อาจารย์มีความเห็นอย่างไรนะครับ ก็อาจจะไม่ต้องตอบทุกข้อก็ได้ ว่า...หากรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 จะพระราชทานไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะมีแต่เรื่องนายกรัฐมนตรี แล้วสิ่งที่เทียนวรรณเรียกร้องจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไรในเมื่อไม่เคยพูดถึงการให้มีกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ เรียกร้องแต่สภา แต่ไม่ได้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ก็รู้เรื่องอังกฤษอยู่บ้างเพราะประเทศอังกฤษ ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: จึงจะกล่าวในแง่มุมที่ปรีดี ผิดพลาด ท่านปรีดีทราบถึงความผิดพลาดหรือเลวร้ายมิได้ทําให้เราเข้าใจ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ท่านพูดเองเลยนะครับ เรื่องข้อผิดพลาดของท่าน ท่านบอกตอนนั้นเนี่ยท่านยังไม่มีประสบการณ์พอ คิดในทางทฤษฎีมากไปแล้วที่ผิดพลาดสําคัญในแง่ของบ้านเมืองก็คือการเสนอ ปกเหลืองนะครับ ผมเข้าใจพระปกเกล้าฯ เขาไม่ได้อ่านหรอก พระยามโนฯ อ่านแล้วอ้างทําบันทึกสมุดปกขาวโต้ตอบ ปกเหลืองพูดกันตรงไปตรงมาตามแบบประชาธิปไตยเนี่ยผิดนะครับ เพราะในหลวงจะเขียนต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการครับ แต่อันนี้คุณมโนฯ ก็อ้าง ในหลวงเขียน แล้วเขียนถึงขนาดว่า ไอ้ความคิดของหลวงประดิษฐ์เนี่ยเอามาจากสตาลิน ผมก็เชื่อว่าในหลวงเองก็ไม่เคยอ่านงานสตาลินแต่ว่าก็ถูกโจมตีมาก อันนี้เป็นจุดเด่นจุดด้อยสําคัญของอาจารย์ปรีดี เพราะท่านเห็นว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นประชาชนได้เสรีภาพแล้ว แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน มากเหลือเกิน อยากจะให้คนรวยคนจนลดช่องว่างออกมา เพราะฉะนั้นก็รื้อให้มีรัฐสวัสดิการเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ครับ แต่ว่ารัฐสวัสดิการเนี่ยในปี 1932 มันยังไม่ได้เกิดขึ้นในโลกนี้ 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ยังครับ อังกฤษเกิด มี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: สวีเดนเนี่ยในปี 1932 ซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการตามความเข้าใจในปัจจุบัน ทีนี้ประเด็นคือว่า ถ้าอาจารย์จะเอาความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการของท่านปรีดี มาอธิบายเหตุผลเกี่ยวกับ เค้าโครงเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้วเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ มันมีลักษณะที่คล้ายๆ กับการที่รัฐเข้าไปจัดการควบคุมปัจจัยการผลิตหรือที่ดินคือ มันจะเหมือนของสตาลินทุกอย่าง เพียงแต่ว่าต่างกันตรงที่ว่า ของสตาลินไม่ได้บังคับซื้อ เพราะฉะนั้นก่อนหน้าที่อาจารย์ปรีดีเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจในปี 2476 มันน่าจะไปเหมือนในแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มากกว่า ที่จะเป็นรัฐสวัสดิการรึเปล่า 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมว่าอาจารย์ปรีดีมีแนวโน้มทางสังคมนิยมแน่นอนครับ แต่ไอ้คอมมิวนิสต์ไม่เป็นแน่ คณะกรรมาธิการก็จะมี 3 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษครับ แล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศส ท่านซักใช้ไล่เรียนต่างๆ ข้อเขียนต่างๆ สรุปว่าอาจารย์ปรีดีไม่ใช่คอมมิวนิสต์

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง ผมก็อ่านไปเยอะ อาจารย์ก็มีความรู้เบื้องต้นหรือความรู้ที่ให้ภาพรวมเกี่ยวกับข่าวมากพอสมควรนะครับ คือถ้าคณะกรรมการที่ตรวจสอบ เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีเนี่ย แน่นอนถ้าเอาคอมมิวนิสต์ ของคาร์ล มาซ์ก เป็นตัวตั้ง เค้าโครงเศรษฐกิจไม่เป็นคอมมิวนิสต์หรอกครับ เพราะว่าคอมมิวนิสต์มันจะต้องผ่านพัฒนาการนะครับในประวัติศาสตร์ ต้องผ่านขั้นตอนสังคมนิยมก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเอาเกณฑ์คอมมิวนิสต์มาจับเค้าโครงเศรษฐกิจหรือเอาเกณฑ์คอมมิวนิสต์มาจับการเปลี่ยนแปลง ในรัสเซียในจีนหรือแม้กระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีประเทศไหนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สังคมนิยมเนี่ยมันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะไปสู่คอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คําว่าคอมมิวนิสต์ ตัวท่านปรีดีเองท่านก็บอกเขาไม่ได้เป็น มันไม่มีใครเป็นนะ แต่ว่ามันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะนําไปสู่คอมมิวนิสต์ได้

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมก็เห็นด้วยในเรื่องนี้

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ครับผมกราบขอบพระคุณอาจารย์ครับ อาจารย์เข้าใจว่า พระยามโนฯ เป็นคนเขียนไอ้สมุดปกขาวใช่ไหม

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมเข้าใจว่าอย่างงั้นนะครับ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ผมได้ไปเช็กเยอะเลย เพราะว่าต้นฉบับหาไม่เจอ ว่าเป็นลายมือใคร มันไม่มีจริงๆ ทีนี้ผมก็เลยไปถามนะครับ ถามคนที่เป็น ทายาทของสายรัชกาลที่ 7 คือ สายพระนางอําไพครับ ท่านก็ให้เหตุผลดีนะครับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีบอกว่า ในขณะที่สมุดปกขาวออกมาหรือพระบรมราชวินิจฉัยออกมาและอ้างชื่อท่านเนี่ย ถ้าท่านไม่ได้เห็นด้วย ท่านก็คงต้องแย้งออกมาแล้ว และสํานวนเนี่ยเป็นสํานวนที่บอกว่าเป็นสํานวนรัชกาลที่ 7 ผมก็เลยไม่ทราบว่านี่คือความเห็นอีกฝั่งนึงที่บอกว่าน่าจะเป็นพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 จริงๆ หรือพื้นฐานของผู้คนนะครับ คือ ผมอ่านหลายจุดแล้ว ก็พบว่าท่านมีความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์นะครับ แต่ถามว่าท่านจะเขียนเองได้ไหม พระองค์พระราชวินิจฉัย ถ้าเชื่อมโยงกับฐานอันนั้น มีความเป็นไปได้ที่ท่านจะเขียนสมุดปกขาวเอง แต่อันนี้อาจารย์ได้สรุปไปแล้ว ที่ผมก็ยอมรับนะครับว่าเนื่องจากมันไม่มีหลักฐานเราก็ต้องถือว่าเป็นการตีความได้ แต่กระนั้นก็ตามใครจะเขียนสมุดปกขาวก็แล้วแต่ อาจารย์คิดว่าเหตุผลหรือข้อโต้แย้งในสมุดปกขาวมีน้ำหนักไหมครับ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: อันนี้มันอยู่ที่คนอ่านนะครับ ถ้าคุณอยู่ฝ่ายขวา คุณจะเห็นว่า สมุดปกเหลืองเป็นคอมมิวนิสต์แท้ๆ เลย แต่ถ้าคุณมีใจเป็นกลางคุณก็จะเห็นว่า ของอาจารย์ปรีดีเนี่ย ก็เป็นสังคมนิยมแบบอ่อนๆ เท่านั้นเอง เพราะคนที่เห็นด้วยกับอาจารย์ปรีดีในคณะกรรมาธิการ ก็คือหม่อมเจ้าสกลนะครับ หม่อมเจ้าสกลวรวรรณที่ เป็นพี่ของพระองค์ท่านเลย ท่านสกลเห็นด้วยเต็มที่เลยครับ ชัดเจน 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้เนี่ย ที่บอกว่ามันแล้วแต่มุมมองพวกเขา ถ้าคนที่เป็นขวาก็จะมองว่าเป็นซ้าย คําว่าขวาของอาจารย์หมายถึงอะไร

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: คือพวกนี้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง กลัวจะถูกริบที่ดิน ทั้งๆ ที่เขาเขียนชัดเจนว่าเขาจะขอซื้อที่ดินเท่านั้นเอง

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ทีนี้ขวาที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจอย่างเช่น พระยาทรงสุรเดช ท่านก็บอกว่าถ้าอยากจะให้รัฐเข้าไปทํานาเอง ทําไมต้องไปบังคับซื้อที่ดิน เพราะว่าที่ดินเนี่ยออกเยอะแยะ ที่เป็นที่ดินว่างเปล่า แล้วคนว่างงานก็เยอะแยะ ทําไมไม่ใช้ที่ดินที่ว่างเปล่าและคนว่างงานให้มาทํางานให้กับรัฐตามนโยบายของหลวงประดิษฐ์หรือท่านปรีดี...พระยาทรงเนี่ยจะเรียกว่าเป็นแนวที่ไม่ต้องการให้รัฐบังคับ จะเป็นเสรีนิยมเลยไหม

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เจ้าคุณทรงฯ พูดตรงไปตรงมานะครับ ความรู้ทางทางเศรษฐศาสตร์นะท่านมีน้อยมาก ท่านรู้ชัดเจนคือเรื่องทหารเท่านั้นเอง แล้วไอ้ที่มาออกความเห็นเนี่ยก็เข้าใจว่า ถูกคุณมโนเป่าหูมา ผมเข้าใจว่าอย่างงั้นมากกว่า เพราะท่านไม่เคยรู้เรื่องเศรษฐกิจ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ทีนี้ที่อาจารย์บอกว่าหม่อมเจ้าสกลท่านเห็นด้วยกับเค้าโครงอันนี้ แต่ที่ผมได้ไปอ่านในรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการหรือสมัยนั้นเค้าเรียกว่าคณะกรรมาธิการที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2475 คือในนั้นหม่อมเจ้าสกล แกจะมีความเห็นคือ มันเป็นบันทึกไง ผมก็ไม่ได้ว่าเขาสรุปกันยังไงนะครับ มีบันทึกมีบางครั้งเนี่ยก็เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเห็นด้วยกับบันทึกของโปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมน ซิมเมอร์แมนคือใคร คือศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยาที่รัฐบาลพระปกเกล้าฯ ได้จ้างมาเพื่อให้สํารวจสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านเมืองไทยนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าหม่อมเจ้าสกลแกเห็นด้วยกับซิมเมอร์แมนเนี่ย ก็แปลว่าแกก็เห็นด้วยกับพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งอาจารย์จะสรุปว่าผมหม่อมเจ้าสกลเห็นด้วยกับท่านปรีดีทั้งหมด มันก็ไม่ชัดเหมือนกันนะ...ทีนี้ถามว่าท่านปรีดีเอง ท่านได้เคยมีงานวิจัยหรือไปสํารวจความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปเหมือนกับที่โปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมนได้ลงไปไหม

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ปรีดีนั้นเป็นลูกชาวนานะครับ แล้วพ่อท่านก็ถูกเอาเปรียบมาจากเรื่องที่ดินครับ ท่านก็เลยเห็นมาว่า ส่วนมากชาวไร่ชาวนาถูกเอาเปรียบมาก

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อาจารย์ เคยอ่านงานของโปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมนไหมครับ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ไม่ได้อ่าน

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: คือในช่วงที่ โปรเฟซเซอร์ซิลเมอร์แมน แกสํารวจสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบทเสร็จแล้ว แกก็ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ทีนี้โปรเฟสเซอร์บันเนอร์หรืออะไรเนี่ยผมจําชื่อไม่ได้ แต่ว่าผมได้เขียนไปในเฟซบุ๊ก และแกได้เอางานวิจัยของโปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมนมาตรวจสอบในฐานะนักวิชาการ ก็ปรากฏว่าในรายงานของโปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน เขาตระหนักถึงสิ่งที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้เลยคือ เขากลัวมากเลยว่าเวลาเขาไปลงพื้นที่เนี่ยก็จะมีพวกข้าราชการคอยเอาผักชีมาให้โรยหน้าอะไรอย่างเงี้ยนะครับคือ ระวังตัวมาก พยายามที่จะระวังตัว เพราะว่าในแง่ของระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็รู้อยู่แล้วว่า จะต้องระวังไม่ให้ไอ้สิ่งที่เป็นข้อมูล ที่มันไม่ใช่ข้อมูลแท้ มันมีผลต่อเขา ซึ่งเขาก็ระวังอยู่นะครับ แล้วก็จะได้มาดูว่าตกลงแล้วไอ้สภาพการณ์หรือข้อสรุปที่เสนอพระปกเกล้าฯ แล้วกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลข้อโต้แย้งของสมุดปกขาวต่อปกเหลืองเนี่ยมันฟังขึ้นแค่ไหน นะครับ อันนี้ก็น่าจะเป็นความเจริญของวงการวิชาการนะครับ อาจารย์เห็นด้วยมั้ยครับว่าพระยาทรงฯ เสนอว่าอย่าไปบังคับซื้อที่ดินชาวไร่ชาวนาเลย แล้วก็อย่าไปบังคับชาวนาให้มาเป็นข้าราชการชาวไร่ทํานาให้กับรัฐบาลเลย แต่ว่าให้ไปเอาที่ดินรกร้าง เอาคนว่างงานมาทํา จะได้ทําให้เค้าโครงเศรษฐกิจของขุนหลวง ดําเนินไปได้โดยไม่ต้องไปบังคับซื้อที่ดิน

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมเชื่อว่าอาจารย์ปรีดี เค้าคิดแบบนั้นนะครับ ที่ดินก็จะใช้ที่ดินที่ว่างเปล่า ที่มันมีเจ้าของก่อนครับ ที่เหล่านี้ไม่เพียงพอแล้วค่อยค่อยขอซื้อจากชาวไร่ 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ชาวนาเค้าจะขายให้ครับ และเค้าจะซื้อด้วยราคานิติธรรม ซึ่งอันนี้มีการพูดจริงครับ เพราะว่าในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ถ้าผมจําไม่ผิดวันที่ 28 มีนาคม 2475 หลังจากพระยาทรงฯ เสนอความคิดว่าขุนหลวง อย่าไปบังคับซื้อเลย ใช้ที่ดินว่างเปล่าดีกว่า ท่านก็เห็นด้วยครับ ท่านปรีดีก็เห็นด้วย แล้วมาโต้แย้งกันในประเด็นในเรื่องแบบว่า พักหนี้ เพราะว่ามีคนเสนอให้พักหนี้ประนอมหนี้นะครับ แต่แล้วอาจารย์ปรีดีไม่เห็นด้วย ที่ประชุมวันนั้นก็รายงานการประชุมก็ปิดไป อาจารย์ทราบมั้ยครับว่าตอนหลังได้มีการพยายามเอาเค้าโครงเศรษฐกิจเนี่ยไปเสนอในสภาผู้แทนราษฎรอีกทีนึง อันนี้ผมไม่รู้เรื่อง หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ลงมติไม่รับนโยบายของอาจารย์ปรีดี แต่ไปรับนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนฯ หลังที่เกิดกบฏวรเดชแล้ว เค้าบอกท่านปรีดีเป็นอีกอีกท่านหนึ่งที่หนุนกฎหมายพิเศษ กฎหมายศาลพิเศษ การออกกฎหมายศาลพิเศษนี้ ถือว่าทําลายประชาธิปไตยหรือไม่

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: อันนี้ผมไม่ทราบ พูดตรงไปตรงมาว่าท่าน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อันนี้ผมไม่ทราบ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ครับและท่านก็ไม่ได้ขัดขวาง

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมไม่รู้เรื่องนี้ครับ ข้อด้อยของท่านปรีดีมีเพียงเล็กน้อย หนึ่งไอ้เรื่องสมุดปกเหลืองเนี่ยมันทําเร็วเกินไป สองเรื่องกรณีสวรรคตเนี่ยท่านใช้หลักรัฐศาสตร์ไม่ใช้หลักนิติศาสตร์ แล้วท่านถ้าท่านใช้หลักนิติศาสตร์คดีนี้เรียบร้อยสบายเลย ผิดพลาดเรื่องสวรรคตประมาณหมองูตายเพราะงู สิ่งที่ท่านผิดพลาดอีก ก็คือสิ่งที่เรียก กบฏวังหลวงทหารเรือ หักหลังท่านด้วยทหารเรือก็วางแผนร่วมจะร่วมแต่ว่า ท่านก็พลาดไป

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: เอ๊ะ!! ทําไมเมื่อกี้ที่อาจารย์บอกว่าในกรณีสวรรคต ถ้าท่านปรีดีเอาคน 7 คนสอบสวนตามกระบวนการกฎหมายก็จะจบละ แต่ว่าไปใช้หลักรัฐศาสตร์ใช่ไหม แล้วอาจารย์บอกว่ากรมชัยนาทเนี่ยส่ายหน้านี้หมายความว่าไม่อยากให้ไปแยกสอบ ข้อมูลอะไรที่อาจารย์ไปอ่านแล้วบอกว่ากรมชัยนาทไม่เห็นด้วย

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เรื่องนี้อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ชัดเจนเลยนะครับ เพราะว่ามันหลายอย่างพูดมันชัดเจนนะ น่าสังเกตเพราะสมเด็จพระราชชนนี ท่านเป็นพยาบาลมา ท่านก็รู้ว่ามันมี วิสามัญกรรมเกิดขึ้น ไปแตะต้องศพไม่ได้เลย ไอ้อะไรหลักฐานต่างๆ เก็บไว้นี่ท่านสั่งเลย ให้ไปฝังให้เปลี่ยนอะไรต่างๆ เนี่ยแสดงว่ามันมีอะไรที่มันไม่โปร่งใสเกี่ยวข้องอยู่ชัดเจน

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: เดี๋ยวประเด็นนี้เดี๋ยวผมค่อยไปค้นคว้าแล้วก็มากราบเรียนอาจารย์ทีหลังนะครับ เออเรื่องพระยาทรงสุรเดช กับความขัดแย้งกับท่านปรีดีเนี่ยอาจารย์คิดว่าเริ่มเมื่อไหร่

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมว่าคุณทรงท่านไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์นะครับ แต่ตอนหลังเนี่ย คุณทรงเริ่มไม่ไว้ใจคุณพหลอะไรพวกนี้แล้วจริงๆ พหลมากับหลวงพิบูลย์อะไรท่านก็แหวกออกมา ก็เลยเป็นเหตุ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ในบันทึกของคุณประยูรภมรมนตรีนี่นะครับชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าเขาบอกว่าพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์นี้แตกกัน 3 วันหลังที่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่แกนนําคณะราษฏรนําร่างรัฐธรรมนูญไปทูลเกล้าถวายพระปกเกล้าเนี่ย แล้วพระปกเกล้า พิจารณาแล้วก็เห็นว่ามันเป็นอะไรที่คล้ายกับทําไมต้องใช้คําว่า กรรมการราษฎร อะไรประมาณนี้ ทีนี้ พระองค์ ก็เลยถามพระยาทรงฯ ว่าท่านได้อ่านไอ้รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือเปล่า พระยาทรงฯ ก็บอกว่า ไม่ได้อ่านนะครับ แล้วพระปกเกล้าฯ ก็ถามคุณประยูร คุณประยูรก็บอกว่าไม่ได้อ่าน แล้วถ้าในบันทึกของคุณประยูรก็บอกว่าพระปกเกล้าเสียใจนะครับ และคุณประยูรก็บันทึกว่าพระยาทรงฯ โกรธหลวงประดิษฐ์มาก ที่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ แล้วเขาก็บอกตั้งแต่วันนั้นมาเนี่ยคือแตกกันเด็ดขาด คุณต้องฟังหูไว้หูนะครับเพราะคุณประยูรคนนี้ 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เป็นคนสําคัญมาก ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองสําเร็จ ก็เพราะคุณประยูร ที่คณะราษฏรพัง ก็พระคุณประยูร เมื่อก่อนตอนอยู่วังบางขุนพรหม ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ก็หลงเขา ให้เขาเป็นคนเก่งคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ไปบนฐานะให้เจ้าคุณมโนทุกๆ เช้าเลย ก็คือเวลาเขาเข้าใครเนี่ยประจบใครเนี่ยหลงทั้งหมดทุกคน แต่ก่อนเนี่ยเค้าก็อยู่วังบางพ้งพรหมทูลกระหม่อมบริภัทรก็หลงเขาให้เขาเขาเป็นคนเก่งหนึ่ง ก็เช่นเดียวกันครับ เขาเป็นคนหลายๆ เล่ห์หลายมุม

รู้จัก 'บ.ทุนธนชาต' กลุ่มธุรกิจการเงินไทย 4 ทศวรรษ สร้างเครือข่ายธุรกิจจนใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

ถ้าพูดถึง ‘กลุ่มธนชาต’ หรือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ TCAP คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงธนาคารธนชาต ที่มีสีส้มสดใส เป็นสัญลักษณ์ให้คนได้จดจำ แต่ปัจจุบัน ธนชาต ได้เปลี่ยนเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB ไปแล้ว ภายหลังจากมีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต

ก่อนที่จะมาเป็น ‘ทุนธนชาต’ ในวันนี้ เส้นทางธุรกิจขององค์กรได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อปี 2523 โดยนายบันเทิง ตันติวิท (ประธานกรรมการ) และนายศุภเดช หมู่ศิริเลิศ ได้เข้าไปฟื้นฟู แคปปิตอลทรัสต์ ซึ่งพัฒนามาจากลี กวง มิ้ง บริษัทส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเปลี่ยนมาเป็น ‘บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาต’ ซึ่งได้ผ่านร้อนผ่านหนาวและวิกฤตทางเศรษฐกิจมาหลายครั้ง โดยเฉพาะวิกฤตปี 2540 จนสามารถขยายธุรกิจ จนยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำของประเทศ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางอย่างเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจของกลุ่มธนชาตนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่มีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจเน้นการลงทุนและเป็นบริษัทแม่ (Holding Company) ที่เข้าไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว

🔴ธุรกิจของกลุ่มธนชาต มีอะไรบ้าง?

อย่างที่เกริ่นไปว่า ‘กลุ่มธนชาต’ ดำเนินธุรกิจแบบ Holding Company จึงมีธุรกิจที่เข้าไปลงทุนหลากหลาย ตัวอย่างเช่น...

>> กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ 
ดำเนินธุรกิจโดย บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แบบ ก (Full License) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาทางการลงทุน การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ เป็นต้น

>> กลุ่มธุรกิจประกัน ประกอบด้วย...
บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้บริการประกันภัย โดยครอบคลุมถึงการรับประกันวินาศภัย ได้แก่ การประกันภัยรถยนต์ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

>> ธุรกิจการลงทุน
- บริษัท ที ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้บริการรับประกันชีวิตรายบุคคล ประกันชีวิตกลุ่ม ซึ่งเป็นหลักประกันด้านการออมเงิน ให้ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ

- บริษัท ที เอ็ม โบรคเกอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจในการเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต รวมถึงเป็นผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในการเป็นนายหน้าประกันภัยหรือตัวแทนประกันภัย

- บริษัท เอ็ม ที เซอร์วิส 2016 จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการงานด้าน Back Office และ Business Support แก่เอ็มบีเค ไลฟ์ และทีเอ็ม โบรคเกอร์

>> กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ประกอบด้วย...
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในกลุ่มธนชาตและสถาบันการเงินอื่นมาบริหาร

- บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินอื่นมาบริหาร

- บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารนครหลวงไทยและธนาคาร ธนชาต ทั้งสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และทรัพย์สินรอการขายมาบริหาร 

>> กลุ่มธุรกิจลิสซิ่ง ประกอบด้วย...
- บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน โดยมุ่งเน้นในตลาดรถยนต์ทั้งใหม่และเก่า ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ได้แก่ รถกระบะ รถแท็กซี่ รถหัวลาก และรถบรรทุก เป็นต้น

- บริษัท อาร์ทีเอ็น อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตโดยให้บริการแก่ลูกค้าของราชธานีลิสซิ่งเป็นหลัก

>> กลุ่มธุรกิจลงทุน ประกอบด้วย...
- บริษัท ธนชาต เอสพีวี 1 จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นราชธานีลิสซิ่งจากธนาคารธนชาต ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ

- บริษัท ธนชาต เอสพีวี 2 จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นบริษัทอื่นๆ จากธนาคารธนชาต ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยบริษัทที่รับโอนมา เป็นกลุ่มบริษัทที่จะไม่มีการประกอบกิจการใหม่ และจะดำเนินการเลิกบริษัทและชำระบัญชีในที่สุด

นอกจากธุรกิจทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่กลุ่มธนชาตมีความแข็งแกร่งและสร้างผลตอบแทนที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องแล้ว กลุ่มธนชาต ยังมีการลงทุนในธุรกิจแขนงอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK) ที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 20% ซึ่ง MBK ถือเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายทั้ง ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ 

และที่น่าสนใจ MBK คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดราว 48% ในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้าที่เรียกได้ว่าเป็นระดับแลนด์มาร์กของประเทศไม่ว่าจะเป็น ไอคอนสยาม, สยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี, สยามเซ็นเตอร์, และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ซึ่งมีข่าวว่ากำลังจะ IPO เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กลุ่มธนชาต ไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่ยังกระจายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจที่หลากหลาย จากจุดเริ่มต้นเป็นเพียงบริษัทหลักทรัพย์ แต่ผ่านมา 44 ปี ได้แผ่กิ่งก้านขยายการลงทุนเข้าไปยังธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มธนชาตกลายเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นองค์กรมีความชัดเจนด้านการดำเนินธุรกิจและเดินตามวิสัยทัศน์ที่ว่า 'เป็นบริษัทการลงทุนชั้นนำในธุรกิจหลากหลาย เป็นที่ยอมรับทั่วไป ในด้านความมั่นคง ยั่งยืน และมีผลตอบแทนที่ดี' อย่างแท้จริง

นายกฯเศรษฐา เยือนร้อยเอ็ดแก้ปัญหาแหล่งน้ำและแผนพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ให้แก่ชาวร้อยเอ็ด

เมื่อวานนี้ 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ติดตามการบริหารจัดการน้ำและแผนพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ พร้อมรับฟังปัญหาของประชาชนเรื่องแหล่งน้ำ และการพัฒนาโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด บรรยายสรุปแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำและทุ่งกุลาร้องไห้ พร้อมด้วย ส่วนราชการ และพี่น้องประชาชน ราวมต้อนรับเป็นจำนวนมาก ที่ ที่ วัดกู่พระโกนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยมีการเสนอแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำเขตทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งกรมชลประทานเสนอ แผนงานระยะเร่งด่วน และแผนงานระยะกลางในการพัฒนาลุ่มน้ำ เสนอแผนขุดลอกลำเขียวใหญ่ ความยาว 222 กิโลเมตร, เพื่อขยายพื้นที่รับประโยชน์ 100,000 ไร่ และขุดลอกลำห้วยแล้งความยาว 30 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ 30,000 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ทั้งปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ แก้ปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำ รวมถึงปัญหาน้ำและดินซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างร้อยเอ็ดกับอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม อำเภอโพนทรายร้อยเอ็ด อำเภอเกษตรวิสัยร้อยเอ็ด, และพื้นที่ข้างเคียง ให้สามารถใช้สอยได้ประโยชน์ครบถ้วนรอบด้าน ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ประมาณ 2.1 ล้านไร่ ในเขต 5 จังหวัด คือร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และยโสธร ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมชลประทาน พิจารณาโครงการพัฒนาระบบชลประทานทั้งระบบในของร้อยเอ็ด และดูผลกระทบกับประชาชน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในการอุปโภคบริโภค ดูแลเกษตรกรและพัฒนาการส่งเสริมปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 

จากนั้นได้เข้าสักการะพระบรมธาตุวัดกลางอุดมเวทย์อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด และเข้ากราบนมัสการพระครู อดุลจันทคุณ (หลวงพ่อประดิษฐ์ จนฺทโร) เจ้าอาวาสวัดกลางอุดมเวทย์เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสตรวจราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หลังจากนั้น นายกฯ กล่าวทักทายประชาชนและพบปะเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มาให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง 

และจุดสุดท้ายที่ โรงเรียนพนมไพรวิทยาคาร อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวพบปะประชาชน เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ในสิ้นปีนี้ รวมถึงได้มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ดีเพื่อให้มีราคาสูง นอกจากนั้นรัฐบาลยังขอให้ประชาชนที่มีปัญหาแจ้งยังนายอำเภอให้บริหารจัดการจ่ายดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ปัญหายาเสพติดรัฐบาลมีนโยบายหลักคือ แยกผู้เสพจากชุมชนไปบำบัด เพื่อคืนสู่ครอบครัว ผู้ค้ายาต้องถูกจัดการโดยกฎหมาย ยึดทรัพย์ทันที เพื่อขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากประเทศไทย

โกสิทธิ์/ร้อยเอ็ด(ห)
081-377-2689

'เสี่ยเฮ้ง' เปิดใจ!! ภูมิใจทุกตำแหน่งที่มีโอกาสได้รับ แค่ได้ทำประโยชน์สุขเพื่อคนในชาติ เป็นพอ

(5 พ.ค.67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีที่นักข่าวถามว่า "รู้สึกอย่างไรที่ได้เป็น รมช.?" เพราะรัฐบาลที่แล้ว เป็น 'รมว.' ว่า...

ผมรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจกับทุกตำแหน่งที่มีโอกาส มีหน้าที่รับมอบหมายให้ทำงานเพื่อคนในประเทศ ที่ผ่านมา ไม่ว่าผมจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด หรือ สส.ในเขตชลบุรี ผมก็ดีใจ ภาคภูมิใจกับทุกตำแหน่ง เพราะมันสำคัญตรงที่เรามีโอกาสได้ทำเพื่อคนอื่น

ส่วนการได้เป็นรัฐมนตรี จะว่าการ หรือ รัฐมนตรีช่วย ผมมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องเอามาเป็นประเด็นในการทำงาน ในวันนี้ผมพร้อมจะสนองนโยบาย นายกรัฐมนตรี และสนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และร่วมงานกับข้าราชการและนักการเมืองทุกคน เพื่อจุดหมายปลายทางคือ ประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน คนในชาติเป็นสำคัญ 

ตำแหน่งที่โตขึ้น ไม่ได้มีไว้เพื่อวัดบารมีในตัวเรา แต่มันเป็นสัญญาณที่บอกว่า เราจะสามารถมีโอกาส มีหน้าที่ในการช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น และไม่ลืมที่จะดูแลคนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีบ้านผม ให้ดีเหมือนเดิมไปตลอด

สุดท้ายนี้ ผมภูมิใจมากๆ กับตำแหน่ง 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 
ดีใจที่ได้ร่วมงานกับ ท่าน รมว. ภูมิธรรม เวชยชัยครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top